ข้อบังคับสมาคมฯ
ข้อบังคับของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๕
ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๑๔
ตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๔๖
วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖
------------------------
หมวดที่ ๑
ข้อความทั่วไป
ข้อ ๑ ชื่อสมาคม สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ใช้อักษรย่อ ส.ว.ท. แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Science Society of Thailand” ใช้อักษรย่อ S.S.T.
ข้อ ๒ สำนักงาน สำนักงานของสมาคมอยู่ภายในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อ ๓ วัตถุประสงค์ สมาคมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
- เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในหมู่สมาชิก และผู้สนใจในวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย
- เพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิก
- เพื่อส่งเสริมการศึกษา และการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป
- เพื่อติดต่อกับองค์กรทางวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศ
- เพื่อรวมกำลังความรู้ของบรรดาสมาชิก สำหรับนำไปใช้ในการส่งเสริม สวัสดิการสาธารณะ
- เพื่อโฆษณาเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ประชาชน และไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด
หมวดที่ ๒
สมาชิกภาพ
ข้อ ๔ ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมฯ แบ่งออกเป็น ๖ ประเภท คือ
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติคุณในวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการได้ลงมติเชิญให้เป็นสมาชิก
- สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลผู้สำเร็จการศึกษาในวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งจากสถาบันการศึกษาทั่วไป หรือบุคคลผู้มีอาชีพทางวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามระเบียบของสมาคมฯ และสมาคมฯ ได้รับไว้เป็นสมาชิก
- สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลที่สนใจในวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ตามระเบียบของสมาคมฯ และสมาคมฯ ได้รับไว้เป็นสมาชิก
- สมาชิกอุปการะ ได้แก่ บุคคลผู้ยินดีส่งเสริมกิจการวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง หรือหลายสาขา ซึ่งได้สละทรัพย์สินเป็นการอุปการะกิจการของสมาคมฯ และสมาคมฯ ได้ต้อนรับไว้เป็นสมาชิก
- สมาชิกนิติบุคคล เช่น หน่วยงานในสังกัดราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือองค์กรในรูปของห้องสมุด สมาคม มูลนิธิ คณะบุคคลต่างๆ ฯลฯ ที่สนใจในวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ตามระเบียบของสมาคมฯ และสมาคมฯ ได้รับไว้เป็นสมาชิก
ข้อ ๕ การเข้าเป็นสมาชิก
ผู้ประสงค์จะเป็นสมาชิก เว้นแต่สมาชิกกิตติมศักดิ์ และสมาชิกอุปการะ ให้ยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมฯ ได้กำหนดต่อนายทะเบียน แล้วให้นายทะเบียนเสนอชื่อ และอาชีพของผู้สมัครใหม่ (ในกรณีของสมาชิกนิติบุคคลให้เสนอชื่อนิติบุคคลนั้น และตำแหน่งที่ตั้ง) ต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในการประชุมกรรมการบริหารสมาคมฯ ในครั้งต่อไป เพื่อให้ที่ประชุมลงมติรับไว้เป็นสมาชิก
ข้อ ๖ ค่าบำรุง
สมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกนิติบุคคล ชำระค่าบำรุงเป็นรายปีหรือตลอดชีพ อัตราค่าบำรุงให้กำหนดโดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ
หมายเหตุ สมาชิกภาพของสมาชิกประเภทชำระเป็นรายปี สิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของทุกปี
ข้อ ๗ สิทธิของสมาชิก
- สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมฯ
- สมาชิกนิติบุคคลมีสิทธิเทียบเท่าสมาชิกสามัญรายปี โดยต้องเสนอแต่งตั้งผู้แทนของนิติบุคคลนั้นๆ จำนวน ๑ คน มายังสมาคมฯ
- สมาชิกทุกประเภท มีสิทธิได้รับวารสารวิทยาศาสตร์ฉบับภาษาไทยของสมาคมฯ โดยไม่ต้องเสียค่าบำรุงอีก
- สมาชิกที่ประสงค์จะรับวารสาร Science Asia ของสมาคมฯ ต้องชำระค่าบำรุงเพิ่ม โดยอัตราค่าบำรุงขึ้นกับประเภทสมาชิก และกำหนดโดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ
- สมาชิกตลอดชีพมีสิทธิเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการของสมาคมฯ ในอัตราพิเศษ
- สมาชิกมีสิทธิเสนอความเห็นใดๆ เกี่ยวกับกิจการของสมาคมฯ ต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้
- สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมได้คนละ ๑ คะแนน
- สมาชิกสามัญตลอดชีพเท่านั้นมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ
- สมาชิกตลอดชีพเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคมฯ
ข้อ ๘ การพ้นจากสมาชิกภาพ สมาชิกจะพ้นจากสมาชิกภาพเนื่องด้วยเหตุดังต่อไปนี้
ก. ตาย
ข. ลาออก
ค. ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคมฯ
ง. มีความประพฤติเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ
หมวดที่ ๓
วิธีบริหารสมาคม
ข้อ ๙ ให้มีคณะกรรมการบริหารกิจกรรมของสมาคมฯ ขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีวาระและการดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้
ก. คณะกรรมการบริหาร มีองค์ประกอบดังนี้
- ผู้ที่สมาชิกเลือกตั้ง ๒๐ คน
- อดีตนายกสมาคมฯ ที่เพิ่งพ้นวาระ ๑ คน
- ว่าที่นายกสมาคมฯ ๑ คน (เฉพาะในปีที่สองของวาระนายกสมาคมฯ)
- ผู้ที่นายกสมาคมฯ เลือกจากสมาชิกสมาคมฯ อีก ๕ คน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่สมาชิกเลือกตั้งในข้อ ๙ก.(๑) แล้ว
- ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในสมาคมฯ ซึ่งที่ประชุมใหญ่กำหนดให้เป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง
ข. ให้นายกสมาคมฯ เลือกกรรมการบริหารเพื่อดำรงตำแหน่งหน้าที่ อุปนายก, เลขาธิการหนึ่งคน, รองเลขาธิการ, เหรัญญิกหนึ่งคน, ประชาสัมพันธ์ และนายทะเบียน นายกสมาคมฯ อาจแต่งตั้งผู้ช่วยตำแหน่งต่างๆ ได้อีกตามความจำเป็น โดยมีจำนวนรวมไม่เกิน ๑๐ คน และไม่มีสถานภาพเป็นกรรมการบริหาร
ค. ให้คณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งได้สมัยละ ๒ ปี ตามปีปฏิทิน และมีสิทธิเป็นกรรมการต่อไปตามวิธีการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
ง. นายกสมาคมฯ มีวาระ ๒ ปี
จ. ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารที่สมาชิกเลือกตั้งว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ ให้ผู้ที่ได้คะแนนเลือกตั้งคนต่อไปดำรงตำแหน่งแทน ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารที่มาด้วยวิธีอื่นว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการบริหารดำเนินการให้ได้กรรมการบริหารขึ้นมาทดแทน ทั้งนี้ในทุกกรณีให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแทนนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการบริหารที่ตนแทน
ข้อ ๑๐ ให้กำหนดวิธีการเลือกกรรมการบริหารดังต่อไปนี้
ก. สมาชิกสามัญผู้ซึ่งได้ชำระค่าบำรุงครบถ้วนเท่านั้น มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร
ข. ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญของปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง แต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งกรรมการบริหาร ๕ คน ซึ่งประกอบด้วย
(๑) สมาชิกสามัญ ๓ คน (ซึ่งเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่)
(๒) สมาชิกสามัญที่คณะกรรมการบริหารเสนอ ๒ คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ให้ความเห็นชอบ
ค. ให้คณะกรรมการเลือกตั้งคัดเลือกสมาชิกที่สมควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารจากสมาชิกที่มีคุณวุฒิในสาขาวิทยาศาสตร์ต่างๆ และสอบถามความสมัครใจที่จะปฏิบัติงานให้แก่สมาคมฯ กรรมการบริหารที่เข้าร่วมการประชุมต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งการประชุมในสมัยหนึ่งไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสมัยต่อไป ทั้งนี้ องค์ประชุมของคณะกรรมการเลือกตั้งต้องไม่น้อยกว่า ๓ คน
ง. ให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศชื่อ พร้อมทั้งประวัติย่อของสมาชิกไม่ต่ำกว่า ๔๐ คน ที่สมควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร โดยให้มีรายชื่อกรรมการบริหารชุดเดิมอยู่ร่วมด้วยในจำนวนไม่เกิน ๑ ใน ๓ ให้สมาชิกทราบภายในเดือนมิถุนายนของปีที่มีการเลือกตั้ง
จ. สมาชิกสามัญ และหรือ สมาชิกสมทบจะเสนอชื่อของสมาชิกที่สมควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารเพิ่มเติมอีกก็ได้ สมาชิกทุก ๕ คน ทำคำร้องร่วมกันเสนอได้ ๑ ชื่อ โดยส่งคำเสนอชื่อ พร้อมทั้งประวัติย่อให้ถึงสำนักงานเลขาธิการภายในเดือนกรกฎาคมของปีที่มีการเลือกตั้ง
สมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบคนหนึ่งๆ จะทำคำร้องร่วมกับสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบอื่น เพื่อเสนอชื่อสมาชิกสามัญที่ควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารได้เพียงสมัยละชื่อเท่านั้น
ฉ. ให้คณะกรรมการเลือกตั้งคัดเลือกรายชื่อ และสอบถามความสมัครใจของสมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อ ตามหลักการในวรรค จ. ไว้อย่างมาก ๑๐ ชื่อ เพื่อประกาศในรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ช. ให้เป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการจัดส่งบัตรลงคะแนนเสียง พร้อมด้วยรายชื่อ และประวัติย่อของสมาชิกสามัญที่สมควรได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร ตามที่ได้ระบุไว้ในวรรค ง. และ ฉ. ไปให้สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบทุกคน ภายในเดือนกันยายนของปีที่มีการเลือกตั้ง
ซ. กำหนดให้สัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคมของปีที่มีการเลือกตั้งเป็นช่วงปิดรับบัตรลงคะแนนเสียง และให้สำนักเลขาธิการรวบรวมบัตรเสนอต่อคณะกรรมการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบรับรองและนับคะแนน และรายงานผลการเลือกตั้งในวันประชุมใหญ่สามัญในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน
ฌ. การสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ นั้นให้ดำเนินการให้เสร็จ ๑ ปี ก่อนการหมดวาระของคณะกรรมการบริหาร โดยคณะกรรมการบริหารเสนอชื่อกรรมการสรรหาจำนวน ๕ คน ประกอบด้วย ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ หรือ อุปนายกสมาคมฯ ๑ คน ผู้แทนกรรมการบริหาร ๑ คน ผู้แทนจากกลุ่มสาขาวิชาการและสาขาภูมิภาค ๑ คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ๒ คน เพื่อให้สมาชิกสมาคมฯ ให้ความเห็นชอบรับรองในที่ประชุมใหญ่สามัญในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ของปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง
การสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ นั้นให้ดำเนินการตามวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด และเมื่อคณะกรรมการสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ ได้แล้ว ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อให้ความเห็นชอบ
ข้อ ๑๑ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
- คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
- ให้คณะกรรมการบริหาร ประชุมเพื่อปรึกษากิจการของสมาคมฯ ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า ๔ ครั้ง องค์ประชุมคณะกรรมการบริหารต้องประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า ๙ คน และในจำนวนนี้ต้องมี นายก, อุปนายก, เลขาธิการ หรือรองเลขาธิการ อยู่ด้วยอย่างน้อยหนึ่งคน
- มติของคณะกรรมการบริหารให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ นายกมีสิทธิออกเสียงในฐานะเป็นกรรมการบริหารผู้หนึ่งได้ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน นายกมีอำนาจชี้ขาด
- คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งผู้แทนทำหน้าที่เป็นตัวแทนสมาคมฯ ประจำท้องถิ่นให้มีหน้าที่ปฏิบัติภายในระเบียบการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ในเมื่อสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบยี่สิบห้าคนในภูมิลำเนาท้องถิ่นเสนอ
คณะกรรมการบริหารมีอำนาจเชิญสมาชิก สมาชิกสมทบ และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นอนุกรรมการ เพื่อให้ช่วยเหลือกิจการของสมาคมฯ ได้
ฉ. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ได้
ช. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจกำหนดระเบียบการเงินของสมาคมฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ๆ เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติ
หมวดที่ ๔
การประชุม
ข้อ ๑๒ การประชุมใหญ่สามัญ
ให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละครั้ง ในเดือนตุลาคม หรือ พฤศจิกายน โดยมีระเบียบวาระการประชุม ดังต่อไปนี้
- กรรมการบริหารแถลงกิจการในรอบปี
- เสนองบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว
- การแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคมฯ ตามข้อ ๑๐ข.
- การให้ความเห็นชอบคณะกรรมการสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ ตามข้อ ๑๐ฌ.
- ผลการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ตามข้อ ๑๐ซ. ในปีที่มีการเลือกตั้ง
- เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
- เรื่องอื่นๆ ถ้ามี
ข้อ ๑๓ การประชุมใหญ่วิสามัญ
เมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ หรือ เมื่อสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบไม่น้อยกว่า ๒๐ คนร้องขอ ก็ให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้
ข้อ ๑๔ องค์ประชุม
การประชุมใหญ่สามัญ หรือวิสามัญต้องมีสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกสมทบไม่น้อยกว่าสามสิบคน ถ้าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบที่มาประชุมเห็นว่าผู้มาประชุมน้อยเกินไปจะลงมติให้เลื่อนการประชุมไปคราวหน้าก็ได้
ข้อ ๑๕ การประชุมทางวิชาการ
ให้มีการประชุมทางวิชาการ หรือปาฐกถาเป็นครั้งคราว
หมวดที่ ๕
การจัดตั้งสาขา
ข้อ ๑๖ สมาคมฯ อาจจัดตั้งสาขาทางวิชาการได้ การจัดตั้งสาขาทางวิชาการให้กระทำได้โดยประกาศของสมาคมฯ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ วางไว้
สาขาทางวิชาการต้องดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ตามข้อ ๑๑ แต่อาจมีคณะกรรมการสาขาทางวิชาการ ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ แต่งตั้งเพื่อบริหารได้
ข้อ ๑๗ สมาคมฯ อาจจัดตั้งสาขาท้องถิ่นได้ การจัดตั้งสาขาท้องถิ่นให้กระทำได้โดยประกาศของสมาคมฯ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ วางไว้
สาขาท้องถิ่นต้องดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบ อำนาจ และหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ตามข้อ ๑๑ แต่อาจมีคณะกรรมการสาขาท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ แต่งตั้งเพื่อบริหารได้
หมวดที่ ๖
การแก้ไขข้อบังคับ
ข้อ ๑๘ ข้อบังคับของสมาคมฯ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่สามัญ หรือวิสามัญเท่านั้น และต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบผู้มาประชุม