กิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

          ชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ เป็นกิจการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ที่เสริมสร้างและปลูกฝังให้เยาวชนได้สนใจศึกษาหาความรู้และเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ โดยเมื่อปี 2535-2536 สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุล เป็นนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ริเริ่มจัดตั้ง “โครงการชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์” ขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมเยาวชนให้สนใจวิทยาศาสตร์ รู้จักใช้หนลักการทางวิทยาศาสตร์ในการแสดงหาความรู้ตั้งแต่เยาว์วัย โครงการนี้ได้นำกิจกรรมซึ่งปรับปรุงมาจากกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของศูนย์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์ มาเป็นจุดเริ่มต้น ลักษณะของกิจกรรมมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักสังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว ได้เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจดบันทึกสิ่งที่พบเห็น ฝึกทำการทดลองโดยใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานหรือสร้างเครื่องมืออย่างง่ายขึ้นมาใช้ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักใช้เหตุผล ลงข้อสรุปและสื่อสารต่อไป

 


          การดำเนินงานในระยะแรก ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณจากมูลนิธิ พสวท. มีคณะกรรมการฝ่ายวิชาการที่สมาคมฯ แต่งตั้งขึ้น ทำการแปล ปรับปรุงและเพิ่มเติมกิจกรรมดังกล่าวให้เหมาะสมกับเยาวชนไทย เอกสารที่จัดทำมีแผ่นกิจกรรมของ 11 ชุมนุม สำหรับนักเรียนและคู่มือกิจกรรมสำหรับครู รวมทั้งเกียรติบัตรและเข็ม เป็นรูปตามชุมนุมต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังใจแก่สมาชิกชุมนุมที่ทำกิจกรรมได้ครบตามกำหนด ทางสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำการทดลองกิจกรรมเหล่านั้นกับนักเรียนกลุ่มย่อยในโรงเรียน 11 แห่งด้วยกัน ก่อนที่จะนำออกเผยแพร่ 

          กิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์นี้เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีบางกิจกรรมอาจนำไปใช้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ นอกจากนี้อาจารย์ที่ปรึกษาของแต่ละชุมนุมอาจเพิ่มเติมกิจกรรมให้เหมาะสมอีกได้ การใช้เวลาทำกิจกรรมก็อยู่ในดุลพินิจของโรงเรียน                

          โครงการชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ได้จัดเป็นโครงการนำร่องและได้เผยแพร่เอกสารดังกล่าว ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมสามัญศึกษาจำนวน 162 แห่ง และได้เชิญอาจารย์จากโรงเรียนเหล่านั้นมาประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2536 เป็นเวลา 3 วัน เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในด้านจัดกิจกรรมชุมนุมวิทยาศาสตร์ และร่วมกันอภิปรายหาแนวทางพัฒนากิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นและนำไปเผยแพร่ทางชุมนุมวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนต่อไป นอกจากนี้สมาคมฯ ยังได้เชิญชวนให้โรงเรียนร่วมเป็นสมาชิกภาคีชุมนุมวิทยาศาสตร์ของสมาคมฯ อีกด้วย เพื่อให้สมาชิกได้ร่วมกันจัดทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ แล้วนำมาเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ จัดทำจดหมายข่าว จัดนิทรรศการ และประกวดกิจกรรม เป็นต้น นับได้ว่าเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ได้มีการจัดตั้งชุมนุมวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ

          การประชุมปฏิบัติการครั้งนั้น ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ต้องจัดประชุมปฏิบัติการในเรื่องนี้ขึ้นอีกตามความต้องการของอาจารย์ที่ยังไม่มีโอกาสมาร่วมประชุม โดยจัดขึ้นที่ส่วนกลาง (สสวท, จุฬาฯ, มศว ประสานมิตร) และส่วนภูมิภาค (ม.นเรศวร, ม.เชียงใหม่, ม.ขอนแก่นและม.สงขลานครินทร์) ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้มีการจัดประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิทยากรสำหรับกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ให้แก่คณาจารย์ที่รับผิดชอบด้านการผลิตครูวิทยาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะสถาบันราชภัฏอีกด้วย การจัดประชุมปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2536-2540 รวม 8 ครั้งด้วยกัน มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดประมาณ 1,200 คน ทั้งนี้สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ และเครือซีเมนต์ไทย

          ทางสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้เผยแพร่กิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์โดยการจัดนิทรรศการ ในการประชุมนานาชาติเทโนอินโดจีน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ (2537) และงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนกลาง (2538) นอกจากนี้ทางสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดทำจดหมายข่าวสารราย 4 เดือน แจกให้แก่โรงเรียนที่เป็นสมาชิกโดยทั่วกันอีกด้วย ขณะนี้กิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ได้ขยายผลเป็นที่น่าพอใจ มีโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีชุมนุมวิทยาศาสตร์ของสมาคม รวม 490 โรงเรียน

          กิจกรรมของชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ได้เริ่มต้นมาด้วยความร่วมมือและการเสียสละของทุกฝ่าย เพราะมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมเยาวชนให้มีความสนใจและเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาตนเองและประเทศชาติ งานขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนา ปรับปรุงกิจกรรม และรูปแบบของชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ให้หลากหลายและน่าสนใจยิ่งขึ้น

กิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ 11 ชุมนุม

- ชุมนุมนักกีฏวิทยารุ่นเยาว์                             - ชุมนุมนักเคมีรุ่นเยาว์                         - ชุมนุมนักดาราศาสตร์รุ่นเยาว์                      
- ชุมนุมนักธรณีวิทยารุ่นเยาว์  - ชุมนุมนักนิเวศวิทยารุ่นเยาว์ - ชุมนุมนักปักษีวิทยารุ่นเยาว์
- ชุมนุมนักพฤกษศาสตร์รุ่นเยาว์ - ชุมนุมนักฟิสิกส์รุ่นเยาว์ - ชุมนุมนักสัตววิทยารุ่นเยาว์
- ชุมนุมนักสิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ - ชุมนุมนักอุตุนิยมวิทยารุ่นเยาว์   

 

ตัวอย่างใบประกาศนียบัตรและใบกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

แนวทางการจัดทำกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

แบบฟอร์มขอจัดตั้งชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์